สธ.เตือนห้ามกินใบแก่-ฝักแก่มันแกวเด็ดขาด หลังพบในเมล็ดแก่มีสารพิษหลายชนิด มีพิษรุนแรง ทำลายตับ ไตถึงขั้นตายได้ เผยในรอบ 4 ปีชาวบ้านได้รับพิษแล้ว 9 คน ตาย 3 คน ย้ำส่วนของมันแกวที่กินได้ต้องหัว ใบอ่อน และฝักอ่อนเท่านั้น
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548-2551 กระทรวงได้รับรายงานมีประชาชนได้รับพิษจากการกินเมล็ดมันแกวจำนวน 9 ราย พบที่ จ.เชียงราย 1 ราย จ.ศรีสะเกษ 7 ราย ล่าสุดที่ จ.เลย 1 ราย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ทั้งหมดนี้แพทย์ช่วยชีวิตไว้ได้ 6 ราย เสียชีวิต 3 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 2 ขวบ 1 ราย
นพ.ปราชญ์กล่าวว่า ส่วนของมันแกวที่รับประทานได้ไม่มีพิษ คือ หัว ใบอ่อน และฝักอ่อน โดยหัวมันแกวสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่น แกงส้ม ทำไส้ซาลาเปา และทำทับทิมกรอบ ส่วนฝักอ่อนนำมาต้มจิ้มน้ำพริกได้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมนำฝักและเมล็ดอ่อนมารับประทานกับส้มตำ แต่เมื่อใบแก่ ฝักแก่แล้วจะเป็นพิษ กินไม่ได้ โดยในเมล็ดมันแกวมีสารพิษ ได้แก่ โรเทโนน (Rotenone) เพชีไรซิน (Pachyrrhizin) มีฤทธิ์ฆ่าแมลงหลายชนิด และยังพบสารซาโปนิน (Soponin) สามารถละลายน้ำได้ จะเป็นพิษต่อปลา ทำให้ปลาตาย ส่วนใบแก่ของมันแกวมีสารพิษที่มีชื่อว่า เพชีไรซิด (Pachyrrhizid) โดยทั่วไปชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักจะนำเมล็ดแก่กับฝักแก่มาบด เพื่อทำเป็นยากำจัดศัตรูพืชอีกด้วย
จากการศึกษาพิษของสารโรเทโนน พบว่าถ้ารับประทานเข้าไปจะระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และจะทำลายตับ ไต กระเพาะอาหาร ทำให้ลำไส้อักเสบ รายที่เป็นรุนแรงอาจมีปัญหาระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบไหลเวียนผิดปกติทำให้ชักได้ โดยสารนี้หากสูดดมเข้าไป พิษจะรุนแรงกว่า คือจะกดการหายใจทำให้เสียชีวิตได้
มันแกวมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า เพชีไรซัส อีโรซัส (Pachyrhizus erosus (L.) Urb.) ชื่อสามัญคือแยม บีน (Yam bean) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก และประเทศในแถบอเมริกากลาง ปัจจุบันมีการนำมาปลูกในประเทศเขตร้อนหลายแห่ง เฉพาะในไทยมีการปลูกกระจายทั่วประเทศ มากที่สุดในภาคกลาง รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักจะปลูกในต้นฤดูฝน เพื่อเก็บหัวได้ในฤดูแล้ง โดยลักษณะทั่วไปของมันแกวเป็นเถาไม้เลื้อย มีหัวใต้ดิน ดอกเป็นช่อเดี่ยว กลีบดอกมีสีม่วงแกมน้ำเงิน ออกผลเป็นฝักแบนคล้ายถั่วลันเตา มี 4-9 เมล็ด เมล็ดมีสีเหลือง น้ำตาลหรือแดง